26 มกราคม 2566 เวลา 09.00 น. ที่โรงแรมเลิศธานี อ.เมืองสุพรรณบุรี จ.สุพรรณบุรี
นายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นประธานประกาศวาระ "ตำบลเข้มแข็ง ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" และบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การขับเคลื่อนตำบลเข้มแข็ง ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด ผู้นำกลุ่มองค์กร ภาคีเครือข่ายในชุมชน เข้าร่วมกิจกรรมฯ ร่วมเป็นสักขีพยาน
ตำบลเข้มแข็ง ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการขับเคลื่อนตำบลให้มีขีดความสามารถในการบริหารจัดการ เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนตำบลให้มีความเข้มแข็งใน 3 มิติ คือ
1.มิติด้านความมั่นคง
2.มิติด้านความมั่งคั่ง
3.มิติด้านความยั่งยืน
โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสุพรรณบุรี หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ ผู้นำกลุ่มองค์กรภาคีเครือข่ายพัฒนาชุมชน ได้ตกลงร่วมมือกันขับเคลื่อน บันทึกความเข้าใจ (MOU-Memorandum of Understanding) เพื่อสร้างเจตนารมณ์ร่วมกัน
การดำเนินงาน “ตำบลเข้มแข็ง ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ตามนโยบายของกรมการพัฒนาชุมชน ซึ่งได้กำหนดทิศทางการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนในระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) ภายใต้วิสัยทัศน์ “เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ ชุมชนมีศักยภาพในการบริหารจัดการและพัฒนาตนเองสู่ความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง คนในชุมชนมีงาน มีอาชีพ มีรายได้ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการทำงานพัฒนาด้านต่าง ๆ ผ่านการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ ร่วมกันขับเคลื่อนงานพัฒนาไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น Change for Good เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม และสามารถตอบสนองการแก้ไขปัญหาและความต้องการของประชาชน ได้อย่างแท้จริง สำหรับ “โครงการตำบลเข้มแข็ง ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ผู้นำ กลุ่ม องค์กร หน่วยงานภาคีเครือข่าย และประชาชนได้เรียนรู้และน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนิน ให้มีความเข้มแข็ง ทั้งด้านความมั่นคง ด้านความมั่งคั่ง และด้านความยั่งยืน เสริมสร้างขีดความสามารถในการบริหารจัดการตำบลสู่ตำบลจัดการตนเอง เพื่อใช้พื้นที่ตำบลเป็นฐานการพัฒนาภายใต้กลไกเครือข่ายผู้นำการเปลี่ยนแปลงระดับตำบล และกลไก 7 ภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อน โดยประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ คือ ตำบลมีการบริหารจัดการชุมชนโดยชุมชน จัดการเพื่อประโยชน์ของสมาชิกและชุมชน เกิดเศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งทุนชุมชนธรรมาภิบาลที่มีการบริหารจัดการเพื่อประโยชน์ของสมาชิกและชุมชน ตลอดจนประชาชนในตำบลน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติจนเป็นวิถี มีการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อการพึ่งตนเองอย่างยั่งยืน มีการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม โดยการบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน
ทั้งนี้ จังหวัดสุพรรณบุรี มีพื้นที่เป้าหมายดำเนินการ จำนวน 10 ตำบล หรืออำเภอละ 1 ตำบล ซึ่งทุกอำเภอจะต้องมีการจัดทำแผนปฏิบัติการในการขับเคลื่อน “ตำบลเข้มแข็ง ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและเกิดประโยชน์สูงสุดให้กับพี่น้องประชาชนในตำบลเป้าหมายให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนต่อไป