วันที่ 8 เมษายน 2568 เวลา 10.00 น. ณ ศูนย์เรียนรู้บ้านโป่งกระมั่ง หมู่ 5 ตำบลแจงงาม อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี นางอภิญญา เอี่ยมอำภา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมด้วยนางเอกหทัย พนมอุปถัมภ์ พัฒนาการจังหวัดสุพรรณบุรี ข้าราชการในสังกัดสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสุพรรณบุรี ร่วมติดตามการดำเนินงานโครงการเลี้ยงผึ้งโพรงไทยเชิงอนุรักษ์ ศูนย์เรียนรู้บ้านโป่งกระมั่ง หมู่ 5 ตำบลแจงงาม อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี โดยได้รับการประสานงานจากนางสาวสำเนา เกิดศิริ นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการรักษาราชการแทนพัฒนาการอำเภอหนองหญ้าไซ และเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอหนองหญ้าไซ ในการลงพื้นที่ครั้งนี้
ทั้งนี้ นางศิริทรัพย์ วัชราไทย ประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรีอำเภอหนองหญ้าไซ ได้นำคณะฯ ลงพื้นที่เยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้บ้านโป่งกระมั่ง พร้อมสาธิตการเลี้ยงผึ้งโพรงไทย ฝึกปฏิบัติวิธีการจับผึ้ง การล่อผึ้งด้วยวิธีธรรมชาติ การเก็บรังผึ้ง และการแปรรูปน้ำผึ้ง เป็นต้น
ผึ้งเป็นแมลงที่มีความสำคัญทั้งทางด้านเศรษฐกิจและระบบนิเวศ นอกจากจะให้ผลผลิตที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจหลายชนิดแล้วผึ้งยังมีบทบาทสำคัญในการรักษาความสมดุลและเพิ่มความหลากหลายของระบบนิเวศอีกด้วย
การเลี้ยงผึ้งสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจได้หลากหลายชนิด ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากอุตสาหกรรมการเลี้ยงผึ้ง เช่น เกสรผึ้ง นมผึ้ง พรอพอลิส ไขผึ้ง และพิษผึ้ง เป็นต้น โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้นอกจากจะถูกจำหน่ายในรูปของผลิตภัณฑ์ที่ได้จากรังผึ้งโดยตรงแล้วมักจะนำไปเป็นส่วนผสมและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องสำอาง เวชภัณฑ์ รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในครัวเรือน เช่น สบู่ ยาสีฟัน เป็นต้น ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งทั่วโลกมูลค่านับพันล้านบาทต่อปิ คุณภาพของน้ำผึ้งมีความผันแปรไปตามชนิดของพืชที่ให้น้ำหวาน และช่วงเวลาในการเก็บน้ำผึ้งทำให้น้ำผึ้งมีสี กลิ่น รสชาติ และความเข้มข้นต่างกันไป น้ำผึ้งมีคุณค่าทางอาหารสูง และมีสรรรพคุณเป็นยาแล้ว ปัจจุบันยังนิยมใช้น้ำผึ้งไปผสมทำเครื่องสำอาง เช่น สบู่ แชมพู และครีม ต่าง ๆ
การเลี้ยงผึ้งนอกจากจะให้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจดังกล่าวข้างต้นแล้ว ผึ้งยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจทางอ้อมได้โดยทำหน้าที่เป็นแมลงผสมเกสรให้กับพืชเศรษฐกิจที่สำคัญหลากหลายขนิด โดยพบว่าเกือบร้อยละ 80 ของพืชดอกทั้งหมดจำเป็นต้องอาศัยแมลงในการผสมเกสรและร้อยละ 35 ของพืชเศรษฐกิจจำเป็นต้องอาศัยผึ้งในการผสมเกสร การช่วยผสมเกสรของผึ้งนอกจากจะส่งผลให้พืชติดผลมากขึ้นแล้วยังส่งผลต่อคุณภาพของผลผลิตอีกด้วย
ปัจจุบันประเทศไทยเริ่มมีการนำผึ้งมาช่วยในการผสมเกสรให้กับพืชหลากหลายชนิดมากขึ้น เช่น เงาะ มะม่วง ลำไย ลิ้นจี่ มะม่วงหิมพานต์ งา มะขาม นุ่น และแตงกวา เป็นต้น ดังนั้นการเลี้ยงผึ้งนอกจากจะเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรจากการเลี้ยงผึ้งแล้วยังช่วยให้ผลผลิตทางการเกษตรมีผลผลิตที่ดีและมีคุณภาพมากขึ้นอีกด้วย อีกทั้งยังยังส่งเสริมสตรีมีส่วนร่วมในการพัฒนาศักยภาพสตรี และนำความรู้ที่ได้ใช้ในการประกอบอาชีพ เพิ่มรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว และทางกลุ่มจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นสินค้า OTOP ของจังหวัดสุพรรณบุรีต่อไป