• ปรับขนาด
    ตัวอักษร
อีเมล์ :
รหัสผ่าน :
ลืมรหัสผ่าน
บริการประชาชน
น้องเหน่อ
14.35
น้องเหน่อ
สวัสดีครับ...วันนี้มีอะไรให้ช่วยครับ ถามน้องเหน่อมาได้เลย จะรีบไปหาคำตอบให้ครับ
14.35
ภาพกิจกรรม
รองผู้ว่าฯ สุพรรณบุรี เข้าร่วมการสร้างความร่วมมือในการพัฒนากลุ่มผลตภัณฑ์การเกษตรและอาหารมูลค่าสูงในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง - ตะวันตก ให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ

ม.สวนดุสิต แกนหลักสร้างความร่วมมือกลุ่มผลิตภัณฑ์การเกษตรและอาหารมูลค่าสูง เขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง-ตะวันตก หวังเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ

มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จัดงาน “การสร้างความร่วมมือในการพัฒนากลุ่มผลิตภัณฑ์การเกษตรและอาหารมูลค่าสูงในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง–ตะวันตก ให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ” โดยมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ร่วมกับ สถาบันการศึกษาเครือข่าย ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.พิทักษ์ จันทร์เจริญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสวนดุสิต รศ.ดร.ชนะศึก นิชานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร วิจัย และนวัตกรรม พร้อมด้วย รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท. ) และผู้แทนจังหวัดทั้ง 4 จังหวัดในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง-ตะวันตก ได้แก่ ว่าที่ นายกองเอก เชษฐา ขาวประเสริฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ผู้แทนจังหวัดสุพรรณบุรี, ว่าที่ร้อยตรี อุเทน สีลาเม ผู้แทนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา คุณเอื้องพร นพคุณ ผู้แทนจังหวัดนครปฐม และ เรือโท นพดล จันทรมณี ผู้แทนจังหวัดกาญจนบุรี ขึ้นเวทีร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดงานในครั้งนี้ ในวันที่ 30 เมษายน 2568 ณ ห้องประชุมพวงเงิน มหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิทยาเขตสุพรรณบุรี

ด้าน รศ.ดร.ชนะศึก นิชานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร วิจัย และนวัตกรรม กล่าวถึง โครงการ “การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง-ตะวันตกให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจด้วยกลไกความร่วมมือและการสร้างการมีส่วนร่วมของกลุ่มผลิตภัณฑ์การเกษตรและอาหารมูลค่าสูง” เป็นความร่วมมือ เชิงพื้นที่ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) โดยมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ร่วมดำเนินการกับสถาบันการศึกษาเครือข่าย ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา มหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อผลักดันการพัฒนาพื้นที่ CWEC ซึ่งครอบคลุม 4 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา และนครปฐม โดยมุ่งเน้นกลุ่มผลิตภัณฑ์การเกษตรและอาหารมูลค่าสูงที่มีศักยภาพในการแข่งขันและขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยหลักคิด BCG และนวัตกรรม ซึ่งภายในงานมีกิจกรรมหลากหลาย ประกอบด้วย

• การนำเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายจากผลการดำเนินโครงการ “การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง–ตะวันตก” โดยใช้กลไกความร่วมมือจตุภาคี ประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และภาคประชาชน เพื่อร่วมกันพัฒนาและขับเคลื่อนกลุ่มผลิตภัณฑ์กุ้งขาวและกุ้งก้ามกราม

• การสร้างความร่วมมือในพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง-ตะวันตกให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของเครือข่ายจตุภาคี

• การเสวนาแลกเปลี่ยนความเห็นจากตัวแทนหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ในการยกระดับพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง-ตะวันตก ให้เป็นศูนย์กลางการผลิตและจำหน่ายกุ้ง (กุ้งขาวและกุ้งก้ามกราม) ระดับภูมิภาค

• การจัดแสดงนิทรรศการผลงานวิจัย ผลิตภัณฑ์ต้นแบบจากกลุ่มเกษตรกร และสาธิตเมนูอาหารจากกุ้ง เพื่อเผยแพร่แนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในมิติเศรษฐกิจฐานราก สู่นโยบายระดับภูมิภาคและประเทศ

รศ.ดร.ชนะศึก กล่าวต่อว่า อีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญของการจัดงานในครั้งนี้ คือ ข้อเสนอเชิงนโยบายของโครงการที่ประกอบด้วย แผนพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของกลุ่มผลิตภัณฑ์กุ้งขาวและกุ้งก้ามกรามในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง-ตะวันตก (Roadmap) ในยุทธศาสตร์ 5 ด้าน ได้แก่ การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ การส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การขยายตลาด และการบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยมีเป้าหมายดำเนินการในระยะเวลา 10 ปี แบ่งเป็นระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว มุ่งเน้นการสร้างระบบนิเวศอุตสาหกรรมกุ้งที่ยั่งยืน เชื่อมโยงเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค ซึ่งมหาวิทยาลัยสวนดุสิตคาดหวังว่า ความร่วมมือกับเครือข่ายในครั้งนี้ จะครอบคลุมใน 4 มิติ ได้แก่

1. ด้านเศรษฐกิจ มีเป้าหมายเพิ่มมูลค่าและการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งอย่างน้อย 15% และเพิ่มรายได้เฉลี่ยของเกษตรกรไม่ต่ำกว่า 30%

2. ด้านสังคม มุ่งเน้นการยกระดับแรงงานในท้องถิ่น โดยฝึกอบรมแรงงานกว่า 20,000 คน และส่งเสริมให้เกิดคลัสเตอร์ย่อยที่มีการบริหารจัดการตนเองอย่างน้อย 20 แห่ง

3. ด้านสิ่งแวดล้อม มุ่งลดของเสียในกระบวนการผลิตไม่น้อยกว่า 30% ลดระยะเวลาในการขนส่งอย่างน้อย 20% และยกระดับมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงกุ้งให้ผ่านการรับรองไม่ต่ำกว่า 50% ของพื้นที่โครงการ และ

4. ด้านเทคโนโลยี มีการตั้งเป้าให้เกิดฟาร์มอัจฉริยะไม่น้อยกว่า 500 แห่ง พัฒนาองค์ความรู้ใหม่และจดสิทธิบัตรไม่ต่ำกว่า 10 รายการ พร้อมทั้งมีแพลตฟอร์มกลางสำหรับบริหารจัดการคลัสเตอร์อย่างเป็นระบบ ดังนั้น ภารกิจข้างต้น ถือเป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของโครงการในการเป็นต้นแบบการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรสมัยใหม่ในระดับประเทศอย่างเป็นรูปธรรม

ภาพกิจกรรมอื่นๆ